ประวัติความเป็นมาของขนมไทย

  “ขนมไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยมานับพันปี ถือเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน ในสมัยก่อนขนมไทยจะทำเฉพาะเวลามีงานเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในงานเทศกาล งานประเพณี ศาสนา หรือ พิธีกรรมต่างๆ เพราะผูกพันกับประเพณีและวัฒนธรรมไทยเพื่อใช้ในงานประเพณีและงานมงคล ทั้งนี้ขนมในงานมงคลก็มักมีชื่ออันเป็นมงคลและมีความหมายไปในทางที่ดี  
   โดยเฉพาะชื่อขนมที่มีคำว่า “ทอง” ประกอบ คนไทยเราถือว่าทองเป็นของดีมีมงคล ซึ่งการที่นำขนมที่มีคำว่า “ทอง” มาใช้ในงานมงคลก็เพื่อที่จะได้มีบุญกุศลมีเงินมีทองมีลาภยศ

ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่างานทำบุญ เทศกาลสำคัญ หรือต้อนรับแขกสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้กำลังคนอาศัยเวลาในการทำพอสมควร ส่วนใหญ่เป็น ขนบประเพณี เป็นต้นว่า ขนมงาน เนื่องในงานแต่งงาน ขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมครกขนมถ้วย ฯลฯ ส่วนขนมในรั้วในวังจะมีหน้าตาจุ๋มจิ๋ม ประณีตวิจิตรบรรจงในการจัดวางรูปทรงขนมสวยงาม

ขนมไทยดั้งเดิม มีส่วนผสมคือ แป้ง น้ำตาล กะทิ เท่านั้น ส่วนขนมที่ใช้ไข่เป็นส่วนประกอบ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน นั้น มารี กีมาร์ เดอ ปีนา (ท้าวทองกีบม้า)หญิงสาวชาวโปรตุเกส เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา

ขนมไทยที่นิยมทำกันทุกๆ ภาคของไทย ในพิธีการ ก็คือขนมจากไข่ และเชื่อกันว่าชื่อและลักษณะของขนมนั้นๆ เช่น รับประทานฝอยทอง เพื่อหวังให้อยู่ด้วยกันยืดยาว มีอายุยืน รับประทาน ขนมชั้นก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน รับประทาน ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เจริญ รับประทานขนมทองเอก ก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ รวมถึงตำราขนมไทยด้วย จึงนับได้ว่าวัฒนธรรมขนมไทยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ตำราอาหารไทยเล่มแรกคือแม่ครัวหัวป่า ในสมัยต่อมาเมื่อการค้าเจริญขึ้นในตลาดมีขนมนานาชนิดมาขาย และนับว่าาเป็นยุคที่ขนมไทยเป็นที่นิยม

ที่มา Youtube ช่อง ปภัสราภรณ์ อักษรพิมพ์

ประวัติ “ท้าวทองกีบม้า”

“ท้าวทองกีบม้า” มีชื่อเดิมว่า “นางมารี กีมาร์ เดอ ปิน่า” (Maria Guyomar de Pinha) หรือบ้างก็ถูกเรียกว่า “มารี ตอง กีมาร์” เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส เบงกอล และญี่ปุ่น โดยเธอเป็นธิดาคนโตของ “ฟานิก กียูมาร์” บิดาที่มีเชื้อสายโปรตุเกส ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว กับมารดาชื่อ “อูร์ซูลา ยามาดะ” ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามยังไม่มีการชี้ชัดว่า ฟานิก เป็นบิดาที่แท้จริงของเธอหรือไม่ เพราะมีงานเขียนหนึ่งของ อี. ดับเบิลยู ฮัตชินสัน ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำนวนสองเล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century. และ 1688 Revolution in Siam. โดยกล่าวถึง ฟานิก ว่า “ผู้เลี้ยงดู” หรือ “พ่อเลี้ยง” เท่านั้น แต่เอกสารบางชิ้นก็ว่า มารี กีมาร์ ผิวคล้ำละม้าย ฟานิก และเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ต่างไม่ลังเลใจที่จะเรียก ฟานิก ว่าเป็นบิดาของนาง

ชีวิตสมรสของ “มารี กีมาร์’ 

“มารี กีมาร์” อายุได้ 16 ปี ก็สมรสกับ “พระยาวิไชเยนทร์” (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในตอนแรกบิดาของนางไม่พอใจในพฤติกรรมของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตัวเองนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตาม มารี กีมาร์  ฟานิก จึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าว หลังการสมรส มารี กีมาร์ ก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า  ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน กับ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือบ้างว่าชื่อ ฆวน ฟอลคอน แต่ก่อนหน้านี้ ฟอลคอน มีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพ เพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้ว มารี กีมาร์ จึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก และแสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เพราะความเจ้าชู้ของ ฟอลคอน ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับ คลารา (Clara) นางทาสชาวจีน ในอุปการะของเธอ มารี กีมาร์ จึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง

ชีวิตที่ตกอับ หลังสูญเสียสามี-พระเพทราชายึดอำนาจ

แต่ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลง เมื่อพระยาวิไชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน แต่กระนั้นเธอยังลอบแบ่งทรัพย์สินและเครื่องเพชรออกเป็นสามกล่อง สองกล่องแรกไว้กับบาทหลวงเยสุอิต ส่วนอีกกล่องเธอฝากไว้ที่ทหารฝรั่งเศสชั้นนายร้อยไป แต่บาทหลวงเยสุอิตเกรงจะไม่ปลอดภัยจึงฝากไว้กับนายพันโบช็อง แต่เมื่อถึงเวลาคืนทรัพย์สินของพระยาวิไชเยนทร์แก่ออกญาโกษาธิบดีผู้แทนของไทย ทรัพย์สินที่คงเหลือมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ มารี กีมาร์ จึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง แต่ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนาง ได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นสมญานาม “ราชินีขนมไทย”

ต่อมาเธอได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง เข้ารับราชการในห้องเครื่องต้น กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง เธอได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย

ด้วยเหตุนี้ท้าวทองกีบม้าจึงได้การยกย่องให้เป็น ราชินีแห่งขนมไทย โดยขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงเป็นขนมหวานของไทยนั้น ได้แก่

  • ทองม้วน
  • ทองหยิบ
  • ทองหยอด
  • ทองพลุ
  • ทองโปร่ง
  • ขนมหม้อแกง
  • สังขยา
  • ขนมผิง
  • สัมปันนี
  • ขนมขิง
  • ฝอยทอง
  • ขนมไข่เต่า
  • กะหรี่ปั๊บ
  • ลูกชุบ

อย่างไรก็ตามมีบางข้อมูลกล่าวว่า ความคิดที่ว่าท้าวทองกีบม้าเป็นผู้ผลิตขนมหวานที่รับอิทธิพลโปรตุเกสได้เป็นคนแรกอาจเป็นเรื่องที่ผิด โดย ปรีดิ พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เปิดเผยว่า ขนมโปรตุเกสที่นำเอามาดัดแปลงเหล่านี้ได้แพร่หลายมาพร้อม ๆ กับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่ท้าวทองกีบม้าจะเกิดเสียอีก ทั้งยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่านางได้ผลิตขนมดังกล่าวจริง