ขนมไทยในงานมงคล ส่วนใหญ่จะนิยมที่ชื่อเป็นมงคล และมีการทำที่ประณีตสวยงาม เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าการที่ทำของถวายพระต้องใช้ของที่สวยงามเพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ขนมฝอยทอง เป็นต้น
ขนมไทยในงานอวมงคล ส่วนใหญ่เป็นงานอวมงคลจะไม่ค่อยใช้ขนม ยกเว้นแต่การทำบุญเลี้ยงพระในงานศพ ขนมที่ใช้ในงานอวมงคลนั้น จะไม่นิยมที่เป็นเส้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีการสูญเสียต่อไปเหมือนเส้นขนม
ขนมไทยในงานประเพณีเดือน10 จะประกอบด้วย กระยาสารท (ใช้กันทุกภาคนอกจากภาคใต้) ข้าวยาคู ข้าวทิพย์ ส่วนภาคใต้จะนิยมใช้ยาสาด (กระยาสารท) ยาหนม (กาละแม) ขนมต้ม (ข้าวเหนียวผัดกับกะทิแล้วห่อด้วยใบตองกะพ้อแล้วนำไปต้ม) ขนมม้า ขนมท่อนใต้ ขนมเจาะรู ขนมลา
ขนมไทยในงานตักบาตรเทโว จะประกอบไปด้วยข้าวต้มลูกโยน (ลักษณะหอมีหางจับโยนได้)
เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย จะใช้ขนมที่เป็นมงคลนาม จัดเป็นขนมชั้นดีใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระ แล้วก็เตรียมขนมสำหรับรับรองแขกเหรื่อ ที่มารดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ สมัยโบราณจะกวนกะละแมแต่ปัจจุบันอาจใช้ขนมอื่นๆ ที่อร่อยและสวยงาม เช่น ขนมชั้น ขนมลูกชุบ ตามความสะดวก
สารทไทย เป็นงานประเพณีที่ชาวไทยทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรผู้ล่วงลับ จะมีขนมไทยประจำภาค ได้แก่ ภาคเหนือ : กล้วยตาก เพราะมีกล้วยมาก นอกจากตากก็มีกวนและของแช่อิ่ม
ภาคกลาง : กระยาสารท เคียงคู่กับกล้วยไข่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เรียกว่า งานบุญข้าวจี่ ขนมที่ใช้ได้แก่ ขนมเทียน ข้าวจี่
ภาคใต้ : เรียกว่างานบุญเดือนสิบ ขนมที่ใช้ได้แก่ ขนมลา ขนมกง ขนมพอง
ขนมไทยในพิธีกรรม
ความหมายของขนมมงคลที่นิยมใช้ในพิธีต่างๆ
- ฝอยทอง หมายถึง การทำให้ชีวิตยืนยาวเหมือนเส้นฝอยทอง
- ทองหยิบ หมายถึง การหยิบจับอะไรเป็นเงินเป็นทอง
- ทองหยอด หมายถึง การจัดวางอะไรเป็นเงินเป็นทอง
- จ่ามงกุฎ หมายถึง การได้เลื่อนขั้น เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง
- ทองเอก หมายถึง การแสดงความเป็นหนึ่ง
- ขนมชั้น หมายถึง การทำชีวิตมีอนาคตที่สูงขึ้น
- ขนมถ้วยฟู หมายถึง การทำภารกิจให้เฟื่องฟูรุ่งเรือง
- ลูกชุบ หมายถึง การแสดงถึงมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
- ขนมกง การแสดงความรักเหมือนกงจักร
- ขนมสามเกลอ การเสี่ยงทายถึงชีวิตครอบครัว